บริการของระบบอินเทอร์เน็ต
Home
Contents
ITinLife
Quiz
Products
Sponsor
Print-friendly
MENU
ปรับปรุง : 2566-02-24 (ปรับรุ่นเป็น 9.0)
หน้าหลัก
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
หน่วยที่ 3. บริการของระบบอินเทอร์เน็ต
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. สามารถอธิบายบริการของระบบอินเทอร์เน็ตได้
2. สามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้
สาระการเรียนรู้
3.1
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail หรือ Electronic mail)
3.2 เว็บไซต์(Web site) และบริการสืบค้น(Search engine)
3.3 ไออาซี (IRC - Internet relay chat)
3.4 ไอซีคิว (ICQ)
3.5 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)
3.6 การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์(E-learning หรือ Electronic learning)
3.7 ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์(E-banking หรือ Electronic banking)
3.8 โทรศัพท์อินเทอร์เน็ต (Internet Phone)
3.9 เกมออนไลน์ (Game online)
3.10 ปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้ทันสมัย (Software updating)
3.11 Wap, Palm หรือ PocketPC
3.12 บริการกระดานข่าว (Usenet news)
3.13 เอฟทีพี (FTP - File Transfer Protocol)
3.14 เทลเน็ต(Telnet) หรือ SSH
เว็บไซต์ที่แนะนำ
1. http://www.thaiall.com/article/internet.htm
2. http://www.thaiall.com/webmaster
แบบฝึกหัดท้ายบท
1. เขียนเรียงความประสบการณ์เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต
หน่วยที่ 3. บริการของระบบอินเทอร์เน็ต
3.1 จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail หรือ Electronic mail)
บริการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยการพิมพ์จดหมายในคอมพิวเตอร์ แล้วส่งผ่านสายโทรศัพท์ (Dial-up line) หรือสาย LAN (Local area network) ในองค์กร ไปให้เพื่อนได้ง่าย โดยไม่ใช้แสตมป์ และส่วนใหญ่จะถึงผู้รับในเกือบทันที สามารถส่งภาพ หรือเสียง แม้แต่แฟ้ม Video เช่น Mpeg หรือ AVI เป็นต้น สำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่ไปเยี่ยมบ้านในต่างจังหวัด สามารถส่งผลงานให้อาจารย์ หรือเพื่อน ที่อยู่ในอีกจังหวัดหนึ่งได้ พ่อแม่ที่อยู่เมืองไทย อาจส่งจดหมายไปคุยกับลูกที่ Texas หรือ London ได้ พ่อค้าสามารถใช้ e-mail สอบถามราคา หรือตกลงซื้อขายกับลูกค้า
POP3 (Post Office Protocol 3) คือมาตรฐานหนึ่งของ Mail server เพื่อให้บริการผู้ใช้สามารถอ่าน e-mail จากเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน และเก็บ e-mail ไว้อ่านแม้ไม่ได้ online แต่การอ่าน mail วิธีนี้ต้องกำหนด SMTP (Simple Mail Transfer Protocol) เพื่อใช้สำหรับการส่ง e-mail ที่เขียนใหม่ หรือตอบจดหมาย โปรแกรมที่นิยมใช้อ่าน e-mail เช่น Outlook, Eudora หรือ Netscape mail เป็นต้น เว็บที่ให้บริการเช่น softhome.net, siammail.com หรือ hotpop.com เป็นต้น สำหรับวิธีการติดตั้งค่า หรือข้อกำหนด อ่านได้จาก http://www.siammail.com/email_m.htm หรือ http://www.softhome.net/help/pop.html ปัญหาใหญ่ของบริการนี้คือ อ่าน e-mail จากเครื่องที่ไม่ได้ใช้ประจำได้ลำบาก เช่นเดินทางไปต่างจังหวัด แต่ต้องการเปิด e-mail ฉบับเดิมที่เคยเขียน หรือต้องการข้อมูลจากสมุดที่อยู่ (Address book) เป็นต้น
Web-based e-mail คือบริการให้ผู้ใช้สามารถอ่าน e-mail จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อาจมีผู้ใช้หลายคน เช่นในห้องปฏิบัติการ หรือร้าน internet ได้สะดวก โดยใช้ Browser เช่น IE, Netscape, Neoplanet หรือ Opera เป็นต้น เมื่ออ่านแล้วจะไม่มีข้อมูลเหลืออยู่ในคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นอีก เพราะทุกอย่างถูกเก็บที่ Mail server เว็บที่ให้บริการเช่น hotmail.com, yahoo.com, lampang.net, chaiyo.com, thaimail.com หรือ thaiall.com เป็นต้น ปัญหาใหญ่ของบริการนี้คือ จำกัดขนาดของ e-mail จึงต้องอ่าน และลบ e-mail เสมอ หรือ มีป้ายโฆษณา(Advertising banner) ขึ้นมากวนใจ แต่มีตัวเลือกให้จ่ายเงิน เพื่อไม่ให้แสดงป้ายโฆษณา และเพิ่มบริการที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากขึ้น
3.2 เว็บไซต์(Web site) และบริการสืบค้น(Search engine)
นายเบอร์เนอร์ ลี(Berners-Lee) แห่ง CERN ได้พัฒนา HTTP (HyperText Transfer Protocol) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2533(ค.ศ.1990) ทำให้เกิดบริการ WWW(World Wide Web) ที่สามารถเปิดดูข้อมูลได้ทั้งภาพ และเสียง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเว็บไซต์อย่างทุกวันนี้ โดยใช้มาตรฐานการเชื่อมต่อ TCP/IP ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องสื่อสารกันได้ทุกระบบ
เมื่อต้องการข้อมูล การเข้าไปยัง web site เพื่อหาข้อมูล จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสะดวก และเร็วกว่าการไปที่ห้องสมุด ปัจจุบันมีเว็บให้บริการสืบค้น เหมือนตู้บัตรรายการ ที่ผู้เขียนแนะนำ 4 เว็บ คือ google.com, alltheweb.com, yahoo.com และ siamguru.com ซึ่งเป็นบริการที่ทำให้ทราบว่ามีเว็บใด มีข้อมูลตาม คำสืบค้น(Keyword) ที่ระบุ โดยหาได้ทั้งข้อมูลเว็บไซต์ ภาพ และแฟ้มข้อมูล
ตัวอย่างการสืบค้นข้อมูลเช่น ต้องการหาว่า วิทยาลัยโยนก มีเว็บไซต์ชื่ออะไร หรือเว็บใดมีข้อมูลบ้าง สามารถเข้าไปที่ http://www.alltheweb.com แล้วพิมพ์คำว่า วิทยาลัยโยนก ในช่องว่าง แล้วกดปุ่ม Search จะพบชื่อเว็บ และคำอธิบายข้อมูลของวิทยาลัยโยนก เว็บแรกที่พบก็คือ http://www.yonok.ac.th เป็นต้น
ข้อมูลจากเว็บไซต์มีทั้งภาพ และเสียง ซึ่งรวมไปถึงแฟ้มทั้งหมดที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ เช่นแฟ้มที่มีนามสกุล zip, doc, pdf, xls, mdb หรือ mp3 เป็นต้น จึงไม่จำกัดว่า เปิดเว็บเพื่อดูข้อมูล ภาพ หรือเสียง เพราะบางองค์กร ได้ส่งแฟ้มข้อมูลที่เป็น Microsoft access (.mdb) ให้กับผู้สนใจได้ download หรือหน่วยงานของรัฐบางแห่ง ส่งแฟ้ม Microsoft excel (.xls) ซึ่งเก็บข้อมูลสถิติให้ประชาชนได้นำไปใช้ประโยชน์
เว็บไซต์(Web site) หมายถึงแหล่งรวมเว็บเพจทั้งหมด เช่นเว็บไซต์ของวิทยาลัยโยนก ก็คือการรวมทุกเว็บเพจ ที่อยู่ภายใต้ชื่อ http://www.yonok.ac.th คำว่าโฮมเพจ(Home page) หมายถึงเว็บเพจหน้าแรก โดยปกติจะหมายถึงแฟ้ม index.html ส่วนคำว่าเว็บเพจ(Webpage) คือหน้าเอกสารข้อมูลแต่ละหน้า ที่อยู่ในเว็บไซต์ เช่น กระดานข่าว ข้อมูลหลักสูตร หรือข้อมูลบุคลากร เป็นต้น
3.3 ไออาซี (IRC - Internet relay chat)
บริการที่ทำให้คนทั่วโลกสามารถคุยกันผ่านแป้นพิมพ์ พร้อมกันหลายคน หรือจะกระซิบคุยกัน 2 คนก็ได้ โดยเลือกห้องที่ตนสนใจ และในห้องนั้นจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ในการดูแล หากผู้ใดประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับกลุ่ม ก็จะถูกขับออกไป การที่อินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่วัยรุ่น ก็เพราะพวกเขาสามารถคุยเปิดใจกับใครก็ได้ โดยไม่ต้องบอกชื่อจริง หรือจะโกหกก็ไม่มีใครทราบ ในผู้ใช้บางกลุ่มจะสร้างสังคม และติดต่อสื่อสาร เพื่อช่วยเหลือสมาชิก มีการนัดพบปะสังสรรค์ แต่มีด้านดีก็ย่อมมีด้านเสีย เพราะบางคนอาจสนใจจะใช้ IRC หาเพื่อนเพียงอย่างเดียว โดดเรียน ไม่อ่านหนังสือ นั่งคุยกันได้จนดึก บางครั้งอาจถูกผู้ไม่หวังดีหลอกลวง โดยไม่พิจารณาข้อมูลที่ได้รับ จนก่อให้เกิดความเสียหาย โปรแกรมที่ได้รับความนิยมคือ PIRCH และ MIRC เป็นต้น เว็บที่หาข้อมูลเรื่องนี้ได้คือ pirchat.com, pirch.com, mirc.com, thaiirc.in.th, irc.narak.com, irchelp.org และ irc.org เป็นต้น
3.4 ไอซีคิว (ICQ)
คำว่า ICQ ออกเสียงเหมือน "I seek you" ถ้าท่านให้ฝรั่งพูดคำว่า "I seek you" อย่างเร็ว คนไทยฟังแล้ว จะได้ยินเสียงเหมือนพูดคำว่า ICQ และนี่ก็คือที่มาของชื่อโปรแกรม ที่นิยมใช้กันทั่วโลก
บริการนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่าย สามารถที่จะคุยกับเพื่อนได้สะดวก เพราะโปรแกรมจะแสดงรายชื่อของเพื่อน เมื่อมีการเปิดเครื่องขึ้น จะแสดงสถานะให้ทราบว่าเพื่อนคนใดพร้อมรับข้อความ และสามารถคุยได้คล้ายโปรแกรม IRC แต่ ICQ จะมีความเฉพาะเจาะจงกว่า เพราะทุกคนจะมีเลขประจำตัว 1 เลขเสมอ สำหรับผู้เขียนได้เลข 20449588 ซึ่งทั้งโลกนี้มีผู้เขียนคนเดียวที่ได้เลขนี้
ความสามารถของ ICQ นอกจากการคุยกับเพื่อนผ่านแป้นพิมพ์ การส่งข้อความในกรณีที่ผู้รับไม่อยู่ ข้อความก็จะถูกฝากไว้ที่ server เหมือน e-mail เมื่อผู้รับกลับมาเปิด ICQ จะได้รับข้อความ และบริการ ICQPhone ทำให้ใช้ไมโครโฟน(Microphone) และลำโพง(Speaker) ที่ต่อกับคอมพิวเตอร์ คุยกับเพื่อน จากคอมพิวเตอร์ ถึงคอมพิวเตอร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพียงแต่เครื่องทั้ง 2 จะต้องมีไมโครโฟน ลำโพง และความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม แต่ถ้าต้องการโทรเข้าโทรศัพท์บ้านก็ทำได้ แต่เป็นบริการเสริมที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นนาที นอกจากนี้ยังสามารถอ่าน e-mail จาก POP server ได้หลาย server เมื่อมี e-mail เข้ามาใหม่ โปรแกรมจะส่งเสียงเตือนให้ทราบทันที สามารถส่งข้อความเข้ามือถือของเพื่อนด้วยบริการ SMS หรือ ส่งแฟ้ม เพลง ภาพให้เพื่อนก็ทำได้
บริษัท Mirabilis ก่อตั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2539(ค.ศ.1996) เพื่อให้บริการ ICQ สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิก มีสมาชิกในปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 160 ล้านคน ต่อมาบริษัทถูกซื้อโดย AOL(American online) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2541(ค.ศ.1998) เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ICQ คือ icq.com, thaiicq.com, icqplus.org และ 1001icqskins.com เป็นต้น
คู่แข่งที่น่าจับตาของ ICQ คือ Hotmail messenger และ Yahoo messenger เพราะมีบริการที่ใกล้เคียงกับ ICQ และได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นของใหม่ ใช้ร่วมกับระบบ e-mail ได้ดี และแปลกกว่าเดิม ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์ ที่ชอบของใหม่ ฟรี มีประโยชน์ และน่าเชื่อถือ
3.5 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)
วิธีการหนึ่งที่เอื้อให้การค้าขายเกิดขึ้น เป็นการใช้ประโยชน์จากอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย และครอบคลุมรูปแบบทางการเงินในปัจจุบันเช่น ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ การค้าอิเล็กทรอนิกส์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการประชุมทางไกล เป็นต้น
ความหมายที่กระชับขึ้นของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือกิจกรรมทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับองค์กร และส่วนบุคคล บนพื้นฐานของการนำเสนอข้อมูล การประมวลผล และการส่งข้อมูลดิจิตอล ที่มีทั้งข้อมูลอักษร ภาพ และเสียง
3.6 การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์(E-learning หรือ Electronic learning)
บริการที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนหนังสือ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปนั่งในชั้นเรียน แต่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อ จะเรียนที่ไหน (Anywhere) เมื่อใด(Anytime) ก็ได้ ผู้เรียนสามารถนั่งเรียนด้วยตนเอง แบบเป็นขั้นตอนบทต่อบท หากสงสัยก็สามารถติดต่อสอบถามจนเข้าใจ และมีการสอบวัดผล เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ โดยสรุปแล้วการเรียนแบบ Online มักมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ เผยแพร่ความรู้เป็นขั้นตอน(Follow by contents), มีการสอบวัดผล ประเมินผล(Evaluation), มีระบบตอบข้อซักถาม(Reply the student question) และมีการบริหารจัดการ(Management Education System) สำหรับเว็บที่เกี่ยวข้องเช่น thai2learn.com, learn.in.th, onlinetraining.in.th, nectec.or.th/courseware, elearningmag.com และ elearningexpos.com เป็นต้น
ถ้าท่านคิดจะทำ e-learning เพื่อให้บริการ ก็อย่าไปยึดติดกับลักษณะ 4 ข้อข้างต้น เพราะสิ่งที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์เสมอไป ขอเพียงท่านรวบรวมข้อมูล นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการจัดระเบียบให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ผิดพลาด ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ตอบข้อซักถามผู้เรียน และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ก็ยอดเยี่ยมแล้ว
3.7 ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์(E-banking หรือ Electronic banking)
ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ให้บริการโดยธนาคาร เริ่มเปิดช่องทางอื่น นอกจากการไปติดต่อด้วยตนเองที่ธนาคาร หรือการทำรายการจากตู้ ATM ในแบบเดิม ทุกวันนี้ท่านสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ ติดต่อเข้าไปชำระค่าสินค้า และบริการ หลายธนาคารเปิดให้สามารถโอนเงิน ระหว่างบัญชีผ่านอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้เขียน สามารถตรวจสอบยอดในบัญชี ที่ให้บริการโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านเว็บ scbeasy.com และในปีพ.ศ.2545 เป็นปีแรกที่กรมสรรพากร เปิดให้มีการยื่นแบบฟอร์มชำระภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.91 ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสร้างความสะดวกให้กับประชาชนอย่างมาก
หลายท่านที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบจีเอสเอ็ม แอดวานซ์ สามารถใช้บริการ mBANKING จาก mobileLIFE เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารได้หลายแห่ง เช่น เรียกดูยอดเงินในบัญชี โอนเงินระหว่างบัญชี ชำระค่าสินค้า หรือเรียกดูอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
http://www.scbeasy.com
3.8 โทรศัพท์อินเทอร์เน็ต (Internet Phone)
บริการโทรศัพท์ฟรี จากคอมพิวเตอร์ไปเข้าโทรศัพท์บ้านในอเมริกาเคยมี แต่บริการเหล่านั้นได้หายไป เหลือเพียงบริการที่มีราคาถูกมาก บางเว็บให้บริการโทรเข้าอเมริกาเพียงนาทีละ 2 cent เท่านั้น แต่ถ้าใช้ ICQ จะสามารถโทรจากคอมพิวเตอร์ถึงคอมพิวเตอร์ได้ฟรี แต่ถ้าต้องการโทรศัพท์เข้าบ้านในประเทศต่าง ๆ สามารถตรวจสอบบริการของเว็บเหล่านี้ได้ เช่น net2pone.com, mediaring.com, iconnecthere.com, hottelephone.com และ dialpad.com เป็นต้น
3.9 เกมออนไลน์ (Game online)
เด็กชอบเล่นเกม ปัจจุบันเกมถูกพัฒนาไปมาก ไม่จำเป็นต้องไปซื้อโปรแกรมเกมจากร้าน มาติดตั้งในเครื่องอีกต่อไป เพราะท่านสามารถเลือกเกม เล่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทันที และมีเว็บที่ให้บริการอยู่มากมาย แต่ถ้าเล่นคนเดียวแล้วเบื่อ ก็สามารถเล่นแบบเป็นกลุ่มกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตท่านอื่น ที่ติดต่อเข้ามาในระบบ มีผู้นักเล่นเกมมากมาย ที่พร้อมจะเล่นกับท่าน
3.10 ปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้ทันสมัย (Software updating)
ปัจจุบันเมื่อท่านซื้อโปรแกรมสักโปรแกรมหนึ่ง เช่นโปรแกรมฆ่าไวรัส หรือ Microsoft windows เป็นต้น ความสามารถหนึ่งคือการ update โปรแกรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพราะโปรแกรมฆ่าไวรัสจะต้องได้รับการปรับปรุงเสมอ เพื่อใช้ต่อสู้กับไวรัสพันธุ์ใหม่ หรือระบบปฏิบัติการเช่น Windows หรือ Linux เมื่อซื้อมาระยะหนึ่ง ทางผู้พัฒนาจะแจ้งให้ทราบว่าโปรแกรมมีข้อผิดพลาด ให้ download patch เพื่อนำมาแก้ปัญหาในโปรแกรมที่ได้ซื้อมาแล้ว
3.11 Wap, Palm หรือ PocketPC
WAP (Wireless Application Protocol) คือบริการที่ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเปิดเว็บด้วยโทรศัพท์ได้ แต่ปัจจุบันข้อมูลยังอยู่ในรูปแบบที่จำกัดกว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้เขียนได้ทดสอบแล้ว เพราะมีโทรศัพท์รุ่น Siemens c35i เมื่อใช้บริการ WAP เพื่อดูข้อมูลจะพบ 2 ปัญหาคือ หน้าจอเล็กเกินไป เหมือนอ่านนิยายแต่ต้องอ่านผ่านแว่นขยายทีละตัวอักษร และข้อมูลก็ไม่น่าดึงดูด เพราะเป็นตัวอักษรเท่านั้น ไม่มีรูปภาพ หรือเสียง
Palm คืออุปกรณ์ประเภท PDA (Personal Digital Assistant) ของบริษัท Palm
PocketPC คืออุปกรณ์ประเภท PDA ของหลายบริษัท แต่ใช้ระบบปฏิบัติการจาก Microsoft
หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บต่อไปนี้
http://www.palm.com/products/handhelds/other/
http://www.microsoft.com/mobile/handheldpc/buyhpc.asp
http://www.neccomp.com/MobilePro/
3.12 บริการกระดานข่าว (Usenet news)
บริการกระดานข่าว ที่มีในเว็บมากมาย เกิดขึ้นตามบริการกระดานข่าว(Usenet news) ที่มีให้บริการมาตั้งแต่ยุคแรกของอินเทอร์เน็ต และยังมีการให้บริการอยู่ในปัจจุบัน แต่มีผู้ใช้จำนวนไม่มากที่ทราบ เพราะการใช้งานกระดานข่าวในเว็บไซต์ สะดวกกว่า Usenet news สำหรับกระดานข่าวของสังคมไทย มีชื่อเป็น soc.culture.thai ถ้าท่านต้องการคำตอบที่เกี่ยวกับสังคมไทย เมื่อส่งคำถามไปที่ news:soc.culture.thai อาจจะมีคนตอบ และตรงกับที่ท่านต้องการ ปัจจุบันโปรแกรมที่นิยมนำมาใช้อ่าน usenet news คือ Outlook express ถ้าท่านใช้โปรแกรม IE(Internet explorer) เมื่อพิมพ์ news:soc.culture.thai จะเป็นการเปิดโปรแกรม Outlook และ download หัวข้อข่าวจากเครื่องบริการข่าว
3.13 เอฟทีพี (FTP - File Transfer Protocol)
FTP คือ การรับ - ส่งแฟ้มไปยังเครื่องที่ให้บริการ ปัจจุบันมีโปรแกรม WS_FTP (http://www.ipswitch.com) หรือ CUTE_FTP (http://www.globalscape.com) ที่ทำให้ส่งแฟ้มหลายแฟ้มไปยังเครื่องบริการได้สะดวก ต่างกับการ Upload หรือ Download แฟ้มที่จำกัดจำนวนแฟ้มในการส่งต่อครั้ง ผ่าน Browser เหมือนบริการของ thai.net หรือ geocities.com แม้ไม่มีโปรแกรม WS_FTP หรือ CUTE_FTP แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง TCP/IP จะมีโปรแกรม c:\windows\ftp.exe ติดมาด้วย ทำให้สามารถ Download หรือ Upload ในแบบ Text mode ซึ่งมีฟังก์ชันที่จำเป็นครบ การใช้ FTP ได้ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบริการของเครื่องบริการที่เปิดให้บริการ Web hosting และเปิดให้ใช้ FTP
3.14 เทลเน็ต(Telnet) หรือ SSH
Telnet คือโปรแกรมที่ใช้ติดต่อเข้าไปทำงานในเครื่องบริการที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Unix หรือ Linux มาตั้งแต่ยุคแรก แต่ในปัจจุบันการใช้โปรแกรมนี้เริ่มลดลง เพราะมีจุดบกพร่องเรื่องความปลอดภัย ถ้าผู้ไม่หวังดีนำโปรแกรมประเภท Sniffer ไปประมวลผลในเครือข่าย จะสามารถเห็นทุกตัวอักษรที่พิมพ์ และส่งออกไปจากคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง ผู้เขียนทดสอบแล้วเห็นข้อมูลมากมายที่ส่งจากคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง แม้แต่รหัสผ่าน หรือเนื้อความในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ วิธีแก้ไขคือใช้โปรแกรม SSH (Secure Shell) ซึ่งเข้ารหัสข้อมูลก่อนส่ง ทำให้ผู้ลักลอบไม่สามารถเห็นข้อมูลที่แท้จริง ปัจจุบันระบบปฏิบัติการ Unix หรือ Linux จะมีบริการ SSH เสมอ แต่เครื่องของผู้ใช้ที่ต้องการติดต่อเครื่องบริการ จำเป็นต้องมีโปรแกรม SSH client ติดตั้งไว้
บริการนี้คือการอนุญาตให้ผู้ใช้ติดต่อเข้าไปยังเครื่องบริการ ได้เสมือนนั่งอยู่หน้าเครื่อง เช่นตรวจสอบผู้ใช้ แก้ปัญหาบางประการ อ่าน e-mail ด้วย Pine หรือใช้เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ต้นทางเพื่อบุกรุก หรือโจมตีเครื่องอื่นในอินเทอร์เน็ตต่อไป แต่เกิดปัญหาความปลอดภัยของข้อมูล ที่ถูกส่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ telnet จึงมีการพัฒนา SSH ที่ทำงานได้คล้าย telnet แต่มีการเข้ารหัสก่อนส่งข้อมูล ทำให้ปลอดภัยจากผู้ที่ใช้โปรแกรมตรวจจับประเภท sniffer เพื่อดักจับข้อมูล จากการทดสอบ พบว่าผู้ให้บริการ e-mail ส่วนหนึ่งในปัจจุบัน ยังไม่ป้องกันปัญหานี้ ผู้ให้บริการที่ป้องกันแล้วเช่น Hotmail.com หรือ Yahoo.com โดยมีตัวเลือกสำหรับความปลอดภัยที่สูงขึ้น
"ไม่เริ่มต้นในวันนี้ จะไม่มีทางสำเร็จในวันพรุ่ง" โดย โยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเทอ
หน้าหลัก
Lampang.net
Thaiabc.com
Thainame.net
เปิดรับผู้สนับสนุนเพิ่ม
OS
MIS
SWOT
LINUX
Teach Pro.
SPSS
Business
Research
Online Quiz
Data Structure
จรรยาบรรณ
อันดับสถาบัน
ปฏิทินวันหยุด
วิทยาการคำนวณ
การจัดการความรู้
เกี่ยวกับเรา
สนับสนุนเรา
Products
FB : @Thaiall
Blog : เทคโนโลยี
Thaiall.com
Truehits.net