|
วันนี้ตื่นเช้ามามหาวิทยาลัย เห็นกลุ่มนิสิตใหม่ เตรียมตัวเรียนเสริมพื้นฐาน ทำให้นึกถึง สิ่งที่เคยสอนเรื่อง "การเรียนรู้ (Learning)" ในวิชา พฤติกรรมองค์การ ว่าด้วย ปิระมิดแห่งการเรียนรู้ (Learning Pyramid) กับนิสิต MBA จำได้ว่าช่วงปี 2555 -2556 ก็ได้อ่าน Harvard Business Review 2011 (2554) ที่พึ่งตีพิมพ์ออกมาตอนนั้น และ นำมาใช้สอนใน PowerPoint ด้วย
ว่ากันว่า การเรียนรู้ของการเรียน หรือ การจัดการศึกษา บ้างก็ว่ารูปแบบโบราณ คือ ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง (Lecturer-centered Learning) และ สมัยใหม่ คือ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered Learning) ซึ่งก็แล้วแต่ว่าการศึกษานั้นจะปรับแต่งให้เหมาะสมอย่างไรระหว่างผู้เรียนกับครูผู้สอน ซึ่งก็มีข้อถกเถียงว่าการเรียน - การสอน อย่างไรให้ได้ประโยชน์ หรือ มีประสิทธิภาพที่ดี แต่จากบทความวิจัยในเรื่องปิระมิดแห่งการเรียนรู้ ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ "ความจำจากการเรียน (Learned Memory)" ที่ได้ผ่านไป 24 ชม. ด้วยวิธีต่างๆ โดยไม่ได้ให้ทบทวนสิ่งที่เรียนไปก่อนการทดสอบ
ผลสรุปของการวิจัย เป็นดังนี้
* การเรียนในห้องเรียน (Lecture) นั่งฟังบรรยายจากผู้สอน จะจำได้เพียง 5%
* การอ่านด้วยตัวเอง (Reading) จะจำได้เพิ่มขึ้นเป็น 10%
* การฟัง และ ได้เห็น (Audiovisual) เช่น การดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ คลิปวีดีโอ จำได้ 20%
* การได้เห็นตัวอย่าง (Demonstration) เช่น การทดสอบ ทดลอง แสดงตัวอย่างจริง จะช่วยให้จำได้ 30%
* การได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน (Discussion) เช่น การพูดคุยแลกเปลี่ยน หรือ ให้วิเคราะห์เป็นกลุ่ม จะช่วยให้จำได้ถึง 50%
* การได้ทดลองปฏิบัติเอง (Practice doing) ทดลอง ปฏิบัติ หรือ การแสดงเสมือน จะจำได้ถึง 75%
* การได้สอนผู้อื่น (Teaching) เช่น การติว หรือ การสอน จะช่วยให้จำได้ถึง 90%
จากสรุปผลวิจัย ได้การเรียงรูปภาพปิระมิดสิ่งที่ประสิทธิภาพน้อยไปมาก จัดเรียงเป็นปิระมิดว่าสิ่งใดได้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนมากกว่ากัน โดยภาพรวมทำให้เห็นว่าการสอนแบบทางเดียวจะได้ผลน้อยกว่าการมีปฏิสัมพันธ์สองทาง และ การให้น้ำหนักที่ผู้สอนมีผลน้อยกว่าผู้เรียนรู้ได้มีส่วนร่วมด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ผู้เรียนมีบทบาทสอนด้วย / ออกมาติวให้ผู้เรียนคนอื่นด้วย การมีประสบการณ์ตรงเองนั้นทำให้เกิด "ภาพ (Image)" แปลงเป็น "ความจำ (Memory)" ได้ดีกว่านั่นเอง (สมองจะเก็บจำภาพได้ดีกว่าอักษร)
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1) เนื้อหาหลักในการสอน
ว่าเนื้อหานั้น สามารถปรับไปในกลุ่มวิธีการได้มากน้อยเพียงใด
2) เครื่องมือช่วยสอน
โดยปกติบทของการเรียนรู้นั้น สามารถใช้เครื่องมืออะไรได้บ้างให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม
3) วิธีการทดสอบผล
แนวทางการทดสอบผลสัมฤทธิ์ มีการเตรียมการในการทดสอบกลุ่มการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมได้อย่างไร
4) ความพร้อมของผู้เรียน
อาจหมายถึง อายุ และ สถานะพื้นฐานของผู้เรียน ซึ่งอาจต้องค่อยๆปรับแต่งให้เหมาะสมกับวัย และ พื้นฐาน เช่น ประถม มัธยม ยังอาจต้องเน้นพื้นฐานจากผู้สอนประกอบเป็นหลักเพื่อชี้นำก่อน
ในระดับปริญญาที่สูงขึ้นก็อาจปรับให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น การมีส่วนในการเรียนการสอน ระหว่างผู้สอน และ ผู้เรียน ป.ตรี = 80:20 ผู้สอนให้ความรู้ และ ผู้เรียนมีส่วนนำเสนอแสดงออกบางส่วน ป.โท = 50:50 ผู้สอนให้ความรู้หลัก และ ผู้เรียนทำงานกลุ่ม นำเสนอ ทำกรณีศึกษา ทดลอง หรือ ป.เอก = 20:80 คือ ผู้สอนให้โจทย์ และ แนะแนวทาง ผู้เรียนศึกษา ค้นคว้า ทำงานกลุ่ม นำเสนอ สรุปผล และ โต้ตอบระหว่างผู้เรียน
จากภาพโดยรวมของปิระมิดแห่งการเรียนรู้นี้ อาจนำไปเป็นแนวทางปรับปรุงการสอนการเรียนในทุกระดับชั้นให้พัฒนาการศึกษาองค์รวมดีขึ้นได้ ประเทศเราจะได้ขยับขึ้นจากลำดับ 8 ของอาเซียนได้ แม้แต่องค์กรการทำงานต่างๆทั้งภาครัฐ-เอกชน หรือ ธุรกิจใดๆ ก็สามารถนำแนวการสร้าง "การเรียนรู้" ของบุคลากรได้เช่นกันในรูปแบบ อบรม สัมมนา หรือ การเรียนรู้ในการทำงานต่างๆ ได้เช่นกัน
ท่านล่ะ เป็นผู้ปกครอง พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือ หัวหน้างานใด ที่ต้องการพัฒนา "การเรียนรู้ (Learning)" ให้กับบุตรหลาน ลูกศิษย์ ทีมงาน ลูกน้อง และ คนรอบตัว เป็นไปตามแนวทาง "ปิระมิดแห่งการเรียนรู้ (Learning Pyramid)" หรือ ไม่ อย่างไร
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
6 กรกฎาคม 2565
|