|
การประเมินผลงาน (Job Performance Appraisal) ของตนเอง และ ทีมงาน
การทำงานใดๆ มีความจำเป็นจะต้องทราบผลงาน และ ผลของคนที่ทำงานนั้นๆ ซึ่งองค์กรมีวัตถุประสงค์ต้องการทราบ ผลงาน พฤติกรรม ในขณะที่ตนเองก็จะได้ทราบศักยภาพตนกับเกณฑ์ เพื่อการลดข้อผิดพลาด การต่อยอดส่วนที่ดี และ ความเหมาะสมต่อการเติบโตในองค์กรต่อไป
ทั้งนี้ การประเมิน สามารถทำได้โดย
1) หัวหน้างาน
2) เพื่อนร่วมงาน
3) ผู้ใต้บังคับบัญชา
4) เกณฑ์ตามนโยบาย และ มาตรฐานงานทรัพยการมนุษย์
การประเมินสามารถใช้ 2 ลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ผสมผสานกัน ได้แก่
1) การประเมินเชิงปริมาณ (Quantitative Appraisal)
ซึ่งเป็นการพิจารณา ด้วยคะแนน หรือ ระดับเกรด ที่อาจมีเกณฑ์เป็นหัวข้อ ด้านต่างๆ ที่องค์กรพิจารณาว่าเหมาะสม อาจเป็นภาพรวมที่ใช้เกณฑ์ทุกคนในองค์กร หรือ บางฝ่าย/ แผนก ที่มีเกณฑ์แตกต่างเฉพาะเนื้องานที่ได้รับก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วควรตอบโจทย์องค์กร เช่น
- วัตถุประสงค์ของงานที่ได้รับมอบหมาย
- ตามรายละเอียดของงาน (Job Description) / ตำแหน่ง (Job Position) ที่ทำอยู่
- ตามปริมาณงานที่ได้รับจัดสรรต่อเกณฑ์ จำนวน ปริมาณ ค่าที่วัดด้วยตัวเลข และ คุณภาพที่กำหนด ที่เห็นชัดได้เป็น ผลลัพธ์ ผลผลิต จำนวนนับ เกณฑ์ปริมาณ เป็นต้น
- เกณฑ์พื้นฐานในการเป็นบุคคลที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบเชิงทรัพยากรมนุษย์ใน การขาดงาน การลาประเภทต่างๆ การมาสาย และ ความถี่พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานที่องค์กรตั้งเกณฑ์ไว้
- ความคุ้มค่าต่อองค์กรในผลรวมการจ้างงาน คือ สิ่งที่องค์กรจ่ายให้ทั้งหมดกับตำแหน่ง และ ผลงานที่ได้ ที่อาจเปรียบเทียบในระดับเดียวกันในองค์กร หรือ มาตรฐานเทียบเคียงนอกองค์กร
- ตามมาตรฐานดัชนีชี้วัด (Key Performance Indicator: KPI) ที่อาจมีการตอบสนอง ระดับตนเอง ระดับหน่วย/ฝ่าย จนถึง ระดับองค์กร
2) การประเมินเชิงคุณภาพ (Qualitative Appraisal)
เป็นการประเมินด้วยพฤติกรรม ที่อาจพิจารณาในการสะท้อนภาพรวมจาก 360 องศา ได้แก่ หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือ ผู้บริหารระดับสูง เช่น
- ทัศนคติ ที่มีต่อนโยบายองค์กร กับผู้บริหาร / ฝ่าย ทีมงาน และ งานที่ได้รับมอบหมาย
- ทักษะในการสื่อสาร และ การนำเสนองาน
- วิสัยทัศน์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และ แนวคิดที่มีต่องาน ทีมงาน องค์กร
- การกลมกลืนในการทำงานกับ เพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร บุคลากรฝ่ายอื่นๆ
- บุคลิกภาพ และ การวางตัวแบบมืออาชีพ และ การพัฒนาภาวะผู้นำ
- ความสามารถในการแก้ปัญหางานระดับต่างๆ ทั้งส่วนตน และ ภาพใหญ่ที่เกี่ยวข้องขึ้นไป
- การพัฒนาตนเองที่มีต่องาน และ กับบุคคลใน และ นอกองค์กรที่เกี่ยวข้อง
การประเมินผลงาน จะทราบผลสัมฤทธิ์ได้นั้น อาจเกิดทางตรง หรือ ทางอ้อม โดยตรงกับงาน หรือ งานเกี่ยวเนื่องก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการประเมินผลงาน ส่งผลลัพธ์ต่อคนนั้นๆ ที่จะได้รับการประเมิน คุณค่า คุณภาพของตน คุณประโยชน์ที่มีต่อองค์กร และ นำมาซึ่งแนวทางการให้ ผลตอบแทนเรื่องรายได้ สวัสดิการ และ สิ่งที่องค์กรให้ทั้งเป็นตัวเงิน และ ไม่เป็นตัวเงิน และ ผลลัพธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Developments) ให้แต่ละบุคคล ทีม ฝ่าย และ ภาพรวมของบุคลากรในองค์กรต่อไป
ท่านล่ะ ประเมินตนเอง และ ทีมงานของท่าน อย่างไร และ ผลเป็นเช่นไรต่อองค์กรในภาพรวม
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
5 มิถุนายน 2565
|